เพจดังวิเคราะห์ ภาพคนตายข้างถนน เรื่องจริงหรือจัดฉาก
จากกรณีวานนี้ (29 กรกฎาคม 2564) ผู้ใช้โซเชียลบางส่วนแชร์ภาพพร้อมข้อความเตือนว่า อย่าส่งต่อภาพคนตายริมถนน คลิปคนล้ม, คนนอนชัก อ้างว่าเป็นการจัดฉากของกลุ่มการเมือง จ้างคนมานอนถ่ายรูปแล้วก็ลุกเดินจากไป ต่อมา พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเตือนว่า การแชร์ภาพและคลิปวิดีโอที่เป็นข่าวปลอมนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือ คำสั่งที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊ก Drama-addict ออกมาตีแผ่ความจริงหลังมีไลน์ส่งต่อกันไปว่าภาพคนนอนข้างถนนเป็นการจัดฉาก พบว่าเป็นการเอาภาพหลาย ๆ เคส ทั้งกรณีผู้ป่วยโควิด และกรณีที่ไม่ใช่โควิดมาปนกันดังนี้
1. เป็นเคสชายไอเป็นเลือด เหตุเกิดแถวมีนบุรี เจ้าหน้าที่กู้ภัยรับแจ้ง และ CPR คนไข้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต โดยมีคนไลฟ์เหตุการณ์ไว้ 2. เคสนี้ยังไม่พบข้อมูลว่าข้อเท็จจริงคืออะไร 3. เคสวินมอเตอร์ไซค์คุกเข่า คว่ำหน้า เสียชีวิตริมถนน ญาติแจ้งในเวลาต่อมาว่าติดโควิด (อ่านข่าว :;สลด ! วิน จยย. นั่งคุกเข่าคว่ำหน้าดับริมถนน - ญาติเศร้า ลุงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าติดโควิด)
4. ภาพลุงคนนึง นอนข้างถนน ก่อนพบว่าเป็นคนเมา เจ้าของโพสต์ลบไปแล้ว
5. ชายสูงอายุ เสียชีวิตจากโรคประจำตัวแถวห้วยขวาง ญาติยืนยันว่าไม่ได้ติดโควิดและฉีดวัคซีนแล้ว โดยอ่านข่าวได้
6. เคสหญิงที่นครปฐม ป่วยโควิดกักตัวที่บ้าน ไม่มีเตียงให้แอดมิทในโรงพยาบาล เครียดกระโดดตึกลงมาอาการสาหัส อ่านข่าว
ทั้งนี้เพจดังกล่าวสรุปว่า จาก 6 ภาพนั้น มีเคสเดียวที่หาข้อมูลไม่ได้ นอกนั้น ไม่มีเคสไหนที่เป็นการรับจ้างมาจัดฉากถ่ายภาพแม้แต่รายเดียว และเคส 3 เคส 6 ก็ติดโควิดจริง ๆ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับคนที่ปล่อยข่าวนี้ เพราะเป็นการให้ร้ายผู้ป่วยทั้งหมดในภาพนี้ว่าเป็นขบวนการจัดฉาก
ขณะที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripanrel ได้ออกมาตั้งคำถามถึงการส่งต่อไลน์กลุ่มภาพผู้เสียชีวิตแล้วหาว่าจัดฉากนั้นว่า ไปเอาความคิดมาจากไหน ข่าวพวกนี้มีให้ดูได้ทุกวัน มีคนเข้าช่วยเหลือคนที่ไม่สบายหรือเสียชีวิตอยู่ริมถนนจริง ๆ แม้ว่าหลายกรณีจะไม่ได้เกิดจากโรคโควิด เช่น เป็นลมชัก เสียชีวิตจากโรคอื่น แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในทางกลับกัน ยังไม่เคยมีข่าวเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือชาวบ้านที่ไหน ไปพบคนที่มาทำการแสดง อย่างที่อ้างมานี้
เรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของคนที่อ้างว่าเกิดการจัดฉากนี้ขึ้นจะต้องเอาหลักฐานมาแสดงกับสังคม ไม่อย่างนั้นแล้วเจ้าหน้าที่ควรจะต้องดำเนินคดีด้วยว่าเป็นเฟกนิวส์ นอกจากนี้ยังไม่สบายใจที่ในไลน์นั้นอ้างคำว่า สมาชิกสภาคณาจารย์จุฬาฯ ตนอยากรู้ว่าเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือแค่ถูกแอบอ้างชื่อสถาบันไปใช้