บิ๊กป้อม สั่ง กอนช.ประเมิน ลานีญา
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินแนวโน้มปรากฏการณ์ลานีญาที่มีนักวิชาการแสดงความกังวลและให้ข้อสังเกตผ่านสื่อมวลชนว่า
ปลายปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญามีโอกาสเกิดขึ้น และหากเกิดฝนตกหนักรอบ 1,000 ปี เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ประสบอุทกภัยหนัก โดยเฉพาะหากตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเตรียมการรับมือของหน่วยงานมีความพร้อมอย่างไรนั้น
กอนช.ได้รายงานการติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่า สถานการณ์ภาพรวมช่วงฤดูฝน ปี 2564 สภาพอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับปี 2551
โดยช่วงต้นฤดูฝน เดือน พ.ค. ถึง ก.ค.จะมีปริมาณฝนน้อยเสี่ยงเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ และจะมีฝนตกหนักในเดือน ก.ย. – ต.ค. เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ส่วนช่วงปลายปีเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. จะเกิดฝนตกหนักเสี่ยงเกิดน้ำท่วมบริเวณภาคใต้ สำหรับปริมาณฝนปี 2551 นั้นมีค่าน้อยกว่า ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน
ขณะที่การคาดการณ์ปรากฏการณ์ลานีญา ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปรากฏการณ์ เอนโซ อยู่ในสภาวะปกติต่อเนื่องถึงเดือนต.ค.จากนั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ ลานีญา สภาวะอ่อนๆ ช่วงเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค.
ซึ่งมีผลให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ ช่วงเดือนส.ค. ถึง ธ.ค. มีค่าฝนเฉลี่ยมากสุดในเดือนกันยายน ปริมาณ 260 มิลลิเมตร เท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่ กทม.จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี หรือเกิน 350 มม./วัน จึงมีความน่าจะเป็นน้อยมาก
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – ปัจจุบัน มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ และจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเจิมปากา มีผลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านประเทศไทยมีกำลังแรงส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำทั่วประเทศไทยช่วงวันที่ 20 – 27 ก.ค.64 จะได้ปริมาณน้ำรวม 1,830 ล้านลูกบาศก์เมตร
แยกเป็น ภาคเหนือ 448 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 329 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 916 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคใต้ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวม 36,445 ล้านลูกบาศก์เมตร (44%) และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 45,643 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพายุ เจิมปากา ไม่เข้าไทยโดยตรง ปัจจุบันได้เคลื่อนตัวปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
กอนช.เน้นย้ำทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนโดยเร็ว เพื่อบริหารจัดการน้ำ การป้องกันผลกระทบ และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์แนวโน้มพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าในปีนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก ในช่วงเดือนส.ค. – ก.ย. 2564 คาดการณ์ปริมาณฝนด้วยแผนที่ ONE MAP วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและขาดแคลนน้ำช่วงเดือนส.ค. – ธ.ค. เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการเชิงป้องกันได้ตรงเป้าหมายและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ตรงจุดและทันสถานการณ์
สำหรับพื้นที่เปราะบางในเขตกรุงเทพมหานคร กอนช.ได้กำหนดมาตการเตรียมการป้องกันผลกระทบน้ำท่วม โดยได้บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจุดรอยต่อ และจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบต่าง ๆ เพื่อทำงานเชิงป้องกันล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ให้เป็นไปตามมติ ครม. เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย เนื่องจากระบบระบายน้ำสามารถรองรับฝนตกได้เพียง 100 – 120 มม.ต่อวัน หากฝนตกมากกว่านี้ จะเกิดน้ำนองท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ต้องเร่งสูบระบายน้ำ
ปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,121 เครื่อง มีศักยภาพสามารถระบายน้ำได้ 807 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก คือ 1. ปรับปรุงเพิ่มระบบระบายน้ำเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำ หรือ แก้มลิง การเพิ่มประสิทธิภาพท่อระบายน้ำ รวมถึงการใช้ระบบตรวจวัดข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ
2. การล้างท่อระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลอง และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำ และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ 3. การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหากมีเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จะมีหน่วยงานเร่งด่วนที่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที 4. การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์กลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหา 5. การจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างเกินศักยภาพระบบระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้