คลัง กู้อีก 6 หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ
วันที่ 25 ม.ค.64 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในวันที่ 1-19 ก.พ. 2564 กระทรวงการคลัง จะเริ่มจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น เราชนะ ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมีวงเงินจำหน่าย 5 พันล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ย 2% ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
และในวันที่ 5-19 ก.พ. 2564 จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ เราชนะ วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ โดยแบ่งการจำหน่ายออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. วันที่ 5-15 ก.พ. 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% ต่อปี
จากนั้น ในวันที่ 26-19 ก.พ. 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.8% ต่อปี โดยวงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบน. และธนาคารตัวแทนจำหน่าย ไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง เชื่อว่าพันธบัตรออมทรัพย์จะจำหน่ายได้หมดตามวงเงินที่ตั้งไว้ เนื่องจากประชาชนทุกคนคงรอ โดยพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่คงเป็นการทยอยขาย ไม่ได้หมดอย่างรวดเร็ว
สำหรับความคืบหน้าในการกู้เงินตาม พ.ร.ก. CV-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดมีการอนุมัติกรอบวงเงินกู้แล้ว 7 แสนล้านบาท และมีการกู้เงินแล้ว 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 39% ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น อนุมัติแล้ว 1.96 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.56 พันล้านบาท
ส่วนวงเงินเพื่อการเยียวย า 5.6 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 5.58 แสนล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 3.22 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.9 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.33 แสนล้าบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 4.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากการกู้เงินของรัฐบาลยังเป็นไปตามแผน ในกรอบ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่หากกู้เต็มวงเงินจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับ 56% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง โดยในช่วง ม.ค.-ก.พ. 2564 สบน. มีแผนที่จะกู้เงิน 2.1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเราชนะ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (PN) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว พันธบัตรออมทรัพย์ และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)
โดยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 56% ภายในปีงบประมาณ 2564 เป็นการคำนวณจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1% จากคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวเป็นบวก ซึ่งเป็นการรวมผลกระทบจากการแพร่กระจายของ CV-19 ระลอกใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี เบื้องต้น สบน. ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพราะวงเงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินเดิมยังเหลือยู่ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มหรือไม่
นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนของแผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2564 มีกรอบวงเงิน 2.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ 1.31 ล้านล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ (โลวโอเวอร์) 1.03 ล้านล้านบาท โดยภายใต้แผนการบริหารหนี้ ประกอบด้วย พันธบัตรออมทรัพย์ 5% วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท พันธบัตรรัฐบาล 36% วงเงิน 8.5 แสนล้านบาท, ตั๋วเงินคลัง 22% วงเงิน 5.2 แสนล้านบาท, ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 35% วงเงิน 8.2 แสนล้านบาท และเงินกู้จากเอดีบี 2% วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท
การกู้เงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ ถ้าไม่มีเงินกู้ก็ไม่มีเงินเยียวย า ในมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน อยากให้มองทั้ง 2 ด้าน เพราะงบประมาณอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ มีโครงการอย่างเดียว แล้วไม่มีเงินโครงการก็คงไปไม่ได้ ดังนั้นหนี้สาธารณะจำเป็นต้องมี เพราะเป็นเม็ดเงินเดียวที่จะหมุนเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก นางแพตริเซีย กล่าว
ทั้งนี้ คลัง กู้อีก6หมื่นล้าน ใช้แจก เราชนะ กรอบ 2 เดือนกู้ครบ 2.1 แสนล้าน แจงชัดเหตุผล ถ้าไม่กู้ ก็ไม่มีเงินเยียวย า CV-19 รับงบประมาณอย่างเดียวเอาไม่อยู่
เรียบเรียง siamtoday